แม้จะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ของเครื่องมือทางการแพทย์ แต่เครื่องเอกซเรย์ ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย รวมถึงได้มีโอกาสใช้งานเมื่อต้องตรวจร่างกายเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ . อย่างไรก็ตาม ขณะที่เครื่องเอกซเรย์เหล่านี้มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จากระบบเดิมที่ใช้ฟิล์มซึ่งต้องล้างฟิล์มก่อนได้ภาพ หรือระบบที่ใช้ตลับบันทึกภาพซึ่งต้องอ่านภาพด้วยเลเซอร์ มาเป็นระบบดิจิทัลที่ได้ภาพทันทีหลังถ่ายในปัจจุบัน โรงพยาบาลหลายแห่งของไทยก็ยังจำเป็นต้องใช้แบบเดิมต่อไป ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ แม้จะอยากเปลี่ยนไปใช้แบบดิจิทัลเพื่อให้การบริการตรวจรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทยเป็นไปอย่างสะดวกมากแค่ไหนก็ตาม . ข้อจำกัดดังกล่าวผลักดันให้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย ของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นแกนนำริเริ่มกับทีมนักวิจัย พัฒนาเครื่องเอกซเรย์สองมิติขึ้นมาใช้งานเอง และ BodiiRay (บอดีเรย์) ก็คือ ผลลัพธ์ของความทุ่มเทของทีมงาน . ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าวว่า การวิจัยเครื่อง BodiiRay ดำเนินการมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การคิดค้นสิ่งใหม่อย่างการสร้างเครื่องฉายรังสี แต่เป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่ โดยเป็นงานวิจัยที่สืบเนื่องต่อยอดมาจากการพัฒนา CT Scanner ซึ่งเป็นระบบแสดงภาพทางการแพทย์ 3 มิติที่ทางทีมวิจัยคิดค้นพัฒนาและผลิตใช้งานแล้วในโรงพยาบาลกว่า 50 แห่งทั่วประเทศไทย . “เราเริ่มสังเกตว่า CT Scanner เป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อน จำนวนใช้ไม่สูง แต่ถ้าเป็นเครื่องเอกซเรย์ BodiiRay แบบ 2 มิติ สำหรับถ่ายภาพทรวงอกหรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลับจะเป็นที่ต้องการใช้งานมากกว่าและกว้างกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในหัวเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด และอำเภอ อันนี้ถ้าเราทำวิจัยภายในประเทศได้ ก็จะเกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อประเทศ” . แม้จะไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลก แต่ BodiiRay ก็เป็นเครื่องเอกซเรย์ขนาดกะทัดรัดตัวแรกที่ไทยพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้งานเอง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล 2 มิตินี้มี 2 แบบด้วยกัน คือ BodiiRay S (Stationary) และ BodiiRay R (Retrofit) . ฟังดูอาจจะไม่ใช่ระบบที่ซับซ้อน แต่ศาสตราจารย์ดร.ไพรัช กล่าวว่า กว่าจะพัฒนาให้เครื่องมีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ทัดเทียมกับเครื่องเอกซเรย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้ 3 ผ่าน คือ (1) มีคุณสมบัติใช้งานได้ ผ่าน (2) ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ และ (3) ผ่านการทดสอบการใช้งานต่าง ๆ ตั้งแต่ทดสอบกับหุ่นจำลองส่วนร่างกาย (Phantom) และทดสอบทางคลินิกกับอาสาสมัคร จนถึงทดสอบการใช้งานกับคนไข้จริง จนมั่นใจ พร้อมเสียงตอบรับชมเชยยืนยันจากแพทย์และนักรังสีที่ได้ทดลองใช้งานจริง จึงนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชน . “เวลาทำพวกนี้ เราจะรีบร้อนมากไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย และภาพที่ออกมาต้องถูกต้อง แม่นยำ ชัดเจน ร่างกายเป็นอย่างไร ภาพที่ออกมาก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรานำเครื่องไปใช้ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ประมาณ 1 ปี โดยเริ่มติดตั้ง BodiiRay ตั้งแต่ปลายปี 2562 ใช้เอกซเรย์ผู้ป่วยไปได้เกือบ 5,000 คน และคุณหมอก็พอใจมาก จากนั้นก็ขยายการติดตั้งไปสู่โรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่มีการใช้งานอย่างหนักหน่วง อย่างโรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก และโรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งตอนที่นำมาเผยแพร่และติดตั้งก็ประจวบเหมาะกับที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดพอดี” . อ่านบทความต่อได้ที่ 🤍🤍thestorythailand.com/26/05/2021/23852/ . #TheStoryThailand #AMED #BodiiRay